วิธีแก้ง่วง ป้องกันหลับในขณะขับรถ ก่อนเกิดอุบัติเหตุ

วิธีแก้ง่วง ป้องกันหลับในขณะขับรถ ก่อนเกิดอุบัติเหตุ

 

        หลับใน คืออะไร รู้ไหมว่าแค่วูบเดียวก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นสูญเสียชีวิตได้แล้ว แบบนี้ ต้องป้องกัน แก้ไขก่อนอาการหลับในถามหา


        หนึ่งในสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ก็คือ คนขับมีอาการหลับในนี่แหละ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่คนแห่แหนกันไปท่องเที่ยวอย่างสนุกสนาน คนขับที่เที่ยวจนพักผ่อนไม่เพียงพอ แถมยังมาเจอรถติดๆ ในเส้นทางไกลๆ อีก อาการเหนื่อยเพลียก็ทำมีอาการหลับในได้ง่ายๆ


        อาการหลับในนี่อันตรายมากเลย เพราะนั่นหมายความว่าสมองภายในของคุณจะหลับไปแวบหนึ่ง โดยที่สังเกตจากภายนอกไม่ได้เลย คนที่หลับในจะเหมือนกับกลายเป็นคนหูหนวก ตาบอด หมาดสติไปชั่วครู่ แถมเรายังบังคับตัวเองไม่ให้หลับในไม่ได้เลยด้วย เพราะเป็นอาการที่จะเกิดขึ้นเองกับคนที่ง่วงนอนมากๆ ซึ่งถ้าเผลอหลับในเพียงแค่ไม่กี่วินาทีก็นานพอที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุจนต้องสูญเสียชีวิตได้แล้ว


        ฟังดูน่ากลัวแบบนี้แล้ว แต่ถ้าเราจับสังเกตอาการหลับในได้ และเตรียมตัวป้องกันให้พร้อม ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้นกับตัวเราได้ เราเลยรวบรวมวิธีจับสัญญาณอาการหลับใน พร้อมทั้งวิธีแก้ง่วง และป้องกันอาการหลับใน เพิ่มความปลอดภัยให้ทริปการท่องเที่ยวของคุณ ดังนี้เลย

 

อาการหลับใน มาสังเกตดูซิ !


        คนที่พักผ่อนไม่เพียงพออันจะทำให้สมองหลับในไปชั่วครู่นั้น ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ จะหลับในไปเลย แต่จะมีสัญญาณบางอย่างที่บอกให้รู้ เรื่องนี้ผู้ร่วมเดินทางก็ต้องรู้ไว้ เพื่อจับสังเกตสารถีของเรานะ โดยอาการจะมีทั้ง...

  1. หาวบ่อย และต่อเนื่อง
  2. ใจลอย ไม่มีสมาธิ
  3. รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด กระวนกระวาย
  4. จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 2-3 กิโลเมตรที่ผ่านมา
  5. รู้สึกหนักหนังตา ลืมตาไม่ขึ้น ตาปรือ มองเห็นภาพไม่ชัด
  6. รู้สึกมึนหนักศีรษะ
  7. ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง
  8. มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร


        หากคนขับรถเริ่มมีอาการข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีอาการหลายข้อรวมกัน นั่นเป็นสัญญาณฉุกเฉิน !!! ให้เราต้องทำอะไรสักอย่าง ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุแล้ว

ต้องทำอย่างไร ไม่ให้เกิดหลับในขึ้นมา

  1. กินผลไม้รสเปรี้ยวแก้ง่วง เพราะผลไม้รสเปรี้ยวจะช่วยกระตุ้นประสาทให้สดชื่นขึ้น
  2. อมน้ำแข็งเย็น ๆ หรือใช้น้ำแข็งถูขมับ หรือดื่มเครื่องดื่มเย็น ๆ จะช่วยทำให้สดชื่นตื่นตัวขึ้น
  3. ปิดแอร์ในรถ แล้วเปิดกระจกให้อากาศถ่ายเท ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในรถ และลมจากธรรมชาติจะช่วยให้คนขับรถรู้สึกสดชื่นขึ้น
  4. เปิดเพลงดัง ๆ จังหวะเร็ว ๆ แล้วร้องตามไปด้วย ช่วยแก้ง่วงนอนได้ (แต่อย่าเปิดเพลงช้าเชียว จะยิ่งทำให้ง่วงนอนมากขึ้นไปอีก)
  5. หากไม่ไหวจริง ๆ ให้หาที่ปลอดภัยจอดรถนอนพักผ่อนสัก 10-15 นาที ก่อนเดินทางต่อ อย่าฝืนขับรถต่อไปเด็ดขาด อันตรายมาก
  6. หาคนช่วยขับรถแทนให้ สลับกันตลอดเส้นทาง
  7. เพื่อไม่ให้ร่างกายเมื่อยล้าจนเกินไป ให้จอดพักรถทุก ๆ 150 กิโลเมตร หรือทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง

 

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนกลับ ป้องกันหลับใน


        และนอกจากวิธีแก้ไขอาการหลับในระหว่างเดินทางแล้ว ก่อนออกเดินทางก็สำคัญมากค่ะ เพราะถ้าเราเตรียมตัวให้พร้อม วางแผนให้ดี ก็จะไม่เจอกับอาการหลับในอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ก่อนเดินทางกลับจดจำสิ่งเหล่านี้ไว้เลย

  1. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง อย่างน้อย 2 คืนขึ้นไปก่อนวันเดินทางกลับ ในกรณีที่ต้องเดินทางไกล เพราะหากนอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง การอดนอนจะทำให้สมองทำงานช้าลง และสมองยังต้องการการนอนชดเชยชั่วโมงที่สูญเสียไป ทำให้มีอาการง่วง วูบหลับสั้น ๆ ระหว่างขับรถได้
  2. ทานอาหารแต่พอดี โดยต้องทานมื้อเช้า เพราะมีความสำคัญต่อสมรรถภาพการทำงานของสมองมากที่สุด ส่วนในมื้อเที่ยงหรือบ่ายนั้น อย่าทานอิ่มจนเกินไป เพราะจะทำให้ง่วงได้ง่ายขึ้น
  3. จิบน้ำตลอดทั้งวัน อย่าให้ขาดน้ำ เพราะการขาดน้ำจะทำให้ปวดหัว คลื่นไส้ ปากแห้ง คอแห้ง อ่อนเพลีย สมาธิสั้น ทำให้เหนื่อยล้าได้ง่าย
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นคืนวันก่อนเดินทางกลับ หรือขณะขับรถอยู่ก็ตาม
  5. งดดื่มกาแฟ น้ำอัดลมชนิดน้ำดำ ชา โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือช็อกโกแลต ก่อนเดินทางอย่างน้อย 2-3 วัน เพราะอาหารเหล่านี้มีคาเฟอีน ทำให้นอนหลับได้ไม่สนิท อย่างไรก็ตาม ในระหว่างขับรถ คาเฟอีนอาจช่วยให้หายง่วงได้ ถ้านอนมากพอก่อนเดินทาง ซึ่งขนาดของคาเฟอีนที่จะช่วยกระตุ้นให้ตื่นตัวได้จะอยู่ในช่วง 100-200 มิลลิกรัม เท่ากับกาแฟ 1-2 กระป๋อง
  6. ก่อนเดินทางไม่ควรกินยาแก้แพ้ แก้หวัด หรือยาแก้ปวดบางชนิดที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม เช่น ยาแก้ปวดทรามาดอล (Tramadol), ยาแก้ปวดอะมิทริปทัยลีน (Amitriptyline), ยาโทลเพอริโซน (Tolperisone), ยาออเฟเนดรีน (Orphenadrine) ฯลฯ ยาเหล่านี้ อาจไปลดประสิทธิภาพในการขับขี่ ทำให้ตัดสินใจได้ช้าลง มองเห็นเป็นภาพเบลอ ไม่ชัด เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น หากทานยาเข้าไปควรหลีกเลี่ยงการขับรถไว้จะดีที่สุด
  7. หาเพื่อนร่วมทางไปด้วย การพูดคุยกับคนอื่นจะช่วยกระตุ้นสมองให้ทำงานเพิ่มขึ้น
  8. ไม่ควรขับรถในเวลา 24.00-07.00 น. และในช่วง 14.00 น. ถ้าเป็นไปได้ เพราะเป็นช่วงเวลาอันตรายที่คนเรามักจะหลับในมากที่สุด
Visitors: 43,808